โรคตาบอดสี

เช็คหน่อย! ป่วยเป็นโรคตาบอดสีแบบไม่รู้ตัวอยู่หรือเปล่า?

รู้หรือไม่ว่ามีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้ตัวเองว่าป่วยเป็นโรคตาบอดสี แถมยังใช้ชีวิตกันตามปกติ ผลกระทบที่จะตามมาคือความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายในการทำงาน ขับรถ หรือการใช้ชีวิตประจำวัน หากต้องอยู่กับการทำงานที่ต้องแยกสีต่าง ๆ ออกจากกันด้วยแล้ว  ด้วยสาเหตุที่คนตาบอดสี ไม่ได้หมายความว่ามองไม่เห็นสี แต่เห็นบางสีผิดเพี้ยนไปจากเดิม ดังนั้นลองมารู้จักกับประเภทของโรคนี้ แล้วลองเช็คตัวเองกันดูหน่อยว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการแยกแยะสีหรือไม่ จะได้รีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาได้ทัน

ลักษณะของตาบอดสีแบ่งออกเป็นกี่ประเภท

1.ตาบอดสีเขียว เรียกว่า Deuteranomalia  ซึ่งถือว่าเป็นโรคตาบอดสีที่พบได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับชนิดอื่น โดยมากที่อาการไม่รุนแรงมักจะไม่รู้ตัวเองว่าป่วย ซึ่งลักษณะของอาการจะมองเห็นสีสว่างน้อยลงหากจ้องมองไปที่ภาพถ่าย เห็นสีเขียวและสีแดงจางลงกว่าปกติ แต่ไม่ถึงกับมองไม่เห็นเลย อาจมองเห็นสีแดงเป็นสีส้ม และสีเขียวเป็นสีเขียวแบบซีด ๆ ไปทางสีเทา

2.ตาบอดสีแดง เรียกว่า Protanopia ในกลุ่มนี้เมื่อเทียบแล้วพบได้น้อยมาก ๆ และส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ชายราว 1% ความผิดปกติของการมองเห็นจะมองเห็นทั้งสีแดงและสีเขียวเพี้ยนไปจากเดิมอย่างชัดเจน แต่สำหรับสีเหลืองและสีฟ้า จะมองเห็นได้ตามปกติ แต่สำหรับสีแดงจะมองเห็นเป็นสีเทาดำ ถ้าเอาวัตถุสีแดงมาวางไว้ตรงหน้า คนที่มีปัญหาตาบอดสีประเภทนี้ ถ้าไม่เคยเรียนรู้มาก่อนจะบอกว่าเป็นสีดำหรือสีเทา

3.ตาบอดสีน้ำเงิน เรียกว่า Tritanopia เป็นสีที่พบได้ยากรองลงมาจากตาบอดสีแดง ในการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ผ่านสายตา จะเป็นสีเขียวและสีชมพูเท่านั้น แยกแยะสีได้ยาก ลำบากต่อการใช้ชีวิต

4.ตาบอดสีทั้งหมด เรียกว่า Total color blindness มองเห็นวัตถุเป็นสีขาว เทา และดำ เท่านั้น มองไม่เห็นสีสันอื่นนอกเหนือจากนี้ ซึ่งจะไม่สามารถแยกสีหรือโทนสีใด ๆ ได้เลย ภาพที่เห็นจะเป็นภาพขาวดำ แต่การพบผู้ป่วยในกลุ่มนี้มีน้อยมากในอัตราส่วนเพียง 0.00003% ของประชากรทั้งโลก

ทำไมบางคนไม่รู้ว่าตัวเองกำลังป่วย?

เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคนี้ นั่นก็เพราะว่าการมองเห็นสีไม่ได้หายไปทั้งหมด เพียงแค่เกิดความผิดเพี้ยน ซึ่งถ้าหากเป็นตาบอดสีแบบทั่วไปที่พบได้บ่อย อย่างตาบอดสีเขียว จะมองเห็นแสงสว่างจางลง ยังคงสามารถแยกแยะสีได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ว่าตัวเองกำลังป่วย นอกเสียจากว่าอาการจะเริ่มเป็นตอนอายุมากขึ้น แต่ถ้าเป็นความบกพร่องตั้งแต่เกิด ผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ใช้การจดจำแยกแยะสีได้อย่างถูกต้อง แต่ในกลุ่มที่ตาบอดสีแดง สีน้ำเงิน และตาบอดสีทั้งหมด จะรู้ตัวและเกิดความสับสนอย่างหนักในการแยกประเภทของสี

วิธีตรวจสอบว่ากำลังป่วยเป็นโรคตาบอดสีหรือไม่?

การตรวจว่าเป็นผู้ป่วยตาบอดสีหรือไม่ จะมีการใช้อุปกรณ์แบบง่าย ๆ ที่เรียกว่าแผ่นทดสอบตาบอดสี ซึ่งเชื่อว่าคนทั่วไปน่าจะเคยเห็นกันมาบ้าง โดยเฉพาะเมื่อต้องสอบใบขับขี่ จะมีการตรวจสอบเรื่องตาบอดสีก่อนทุกครั้ง ตัวกระดาษทดสอบจะเป็นวงกลมขนาดใหญ่ที่มีวงกลมสีหลากหลายสีอยู่ภายในกระจายตัวกัน ตรงกลางจะทำให้เป็นตัวเลขที่สร้างด้วยวงกลมสีขนาดเล็กเรียงตัวกัน เกี่ยวเนื่องกับสีของกลุ่มคนที่มีปัญหาตาบอดสีเพื่อตรวจอาการ ถ้าป่วยจะไม่สามารถอ่านตัวเลขดังกล่าวได้

ตาบอดสีรักษาได้? แล้วจะหายเป็นปกติไหม?

ต้องเข้าใจก่อนว่าตาบอดสีเกิดขึ้นจากความผิดปกติของเซลล์รูปกรวยที่ใช้ในการรับรูแสง มีความหนาแน่นมากกว่าเซลล์อื่น ๆ ที่กลางจอตา แบ่งเซลล์รูปกรวยออกเป็น 3 ชนิดตามการรับรู้ คือ รับรู้สีแดง, รับรู้สีน้ำเงิน และรับรู้สีเขียว เมื่อใดก็ตามที่พบว่าเซลล์รับรู้สีใดสีหนึ่งขาดไปจากปกติ หรือไม่มีเลย ก็จะเป็นตัวการทำให้เกิดตาบอดสีนั้น ๆ มากน้อยต่างกันออกไปตามปริมาณของเซลล์ที่หายไปนั่นเอง

ในการรักษา หากเป็นผู้ป่วยตาบอดสีตั้งแต่กำเนิด ส่วนมากจะเป็นสีเขียว หรือสีแดง ถือว่าเป็นปัญหาที่ไม่ได้อันตราย แต่จะมองเห็นสีเพี้ยนไปอย่างที่กล่าวไปข้างต้น สามารถรักษาให้หายจนเกือบเป็นปกติได้ ด้วยการเข้าไปแก้ไขเซลล์ที่ขาดหายไป ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถใช้อุปกรณ์ช่วย ในกรณีที่ต้องทำงานแยกสี ผู้ป่วยจะใช้คอนแทคเลนส์หรือแว่นสายตาแบบพิเศษสำหรับคนป่วยโดยเฉพาะ ทำให้มองเห็นสีสันได้มากขึ้น เช่น แว่นกรองสีแดง จะช่วยมองเห็นสีแดงได้มากขึ้น กระนั้นในการใช้งานก็จะต้องไม่อุปกรณ์ช่วยตลอดเวลา เพราะเสี่ยงที่จะทำให้มองเห็นสีอื่นเพี้ยนไปจากเดิม

โดยสรุปแล้วโรคตาบอดสีไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และไม่มีวิธีที่จะสามารถป้องกันโรคนี้ได้ 100% เต็ม แต่การดูแลสุขภาพสายตา ไม่หักโหมในการทำงานหนัก หมั่นเช็คสายตาตัวเองอยู่บ่อย ๆ รวมทั้งการกินอาหารที่มีประโยชน์ บำรุงสายตา ก็จะช่วยลดการเกิดโรคได้ไม่มากก็น้อย

Author: beauty