ตากระตุกเกิดจากอะไร

ตากระตุกเกิดจากอะไร แล้วแบบไหนที่ควรปรึกษาแพทย์?

ขวาร้าย…ซ้ายดี คืออาการของตากระตุก ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะคิดแค่ในเรื่องของโชคลาง ยิ่งกระตุกหนัก ก็ยิ่งคิดว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากเรื่องความเชื่อว่าจะต้องมีสัญญาณอะไรเข้ามาเตือนแน่ ๆ แต่รู้กันหรือไม่ว่า นอกจากความเชื่อ ยังมีเรื่องของสุขภาพที่แวะเข้ามาเตือนเราด้วย โดยทั่วไปอาการไม่ได้รุนแรง เป็นการกระตุกของกล้ามเนื้อที่หายไปเองได้ แต่ในบางคนที่มีอาการกระตุกอย่างหนัก อาจไม่ใช่แค่เรื่องดวงกันแล้วล่ะค่ะ… แบบนี้ลองมาดูกันหน่อยดีกว่าว่า ตากระตุกเกิดจากอะไร แล้วอาการแบบไหนที่ควรพบแพทย์?

ตากระตุกคืออะไร มีอาการอย่างไร?

ตากระตุก เรียกในภาษาอังกฤษ Eye Twitching ลักษณะของอาการนี้จะเกิดขึ้นจากตัวกล้ามเนื้อในส่วนของเปลือกตา ไม่ว่าจะเป็นเปลือกตาบนหรือเปลือกตาล่างก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น แต่โดยส่วนใหญ่การกระตุกจะเกิดขึ้นแบบทีละข้างเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยเด็ก ผู้ใหญ่ คนสูงอายุ ก็เกิดอาการนี้ได้หมด

จากที่พบการกระตุกโดยมากจะเกิดที่เปลือกตาบนมากกว่า อาการที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่แบบเล็กน้อย ไปจนถึงแบบกระตุกรุนแรงจนทำให้รู้สึกรำคาญ ไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน เมื่อมีอาการแล้วอาจจะกระตุกเพียงแค่ 2-3 ครั้งแล้วหายไปเลย นาน ๆ จะเกิดขึ้นสักที หรือบางรายอาการจะเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ครึ่งวันหรือทั้งวันเลยก็ได้ นอกเหนือจากการกระตุก ร้อยละ 90% ไม่มีอาการเจ็บปวดอื่นร่วมด้วย และไม่มีอันตรายร้ายแรง นอกเสียจากความรู้สึกรำคาญ ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องรักษาหรือกินยา นอกเหนือจากการกระตุกที่มาจากโรคบางชนิด หรืออาการที่ผิดปกติอย่างรุนแรง กล้ามเนื้อกระตุกแบบไม่ยอมหายสักที เป็นต่อเนื่องเกินหนึ่งวัน แบบนี้อาจต้องเข้ารับการตรวจจากแพทย์ เผื่อว่าร่างกายกำลังกระซิบบอกความผิดปกติบางอยู่ก็เป็นได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดตากระตุก

สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดการกระตุกของกล้ามเนื้อนั้น แท้จริงแล้วยังไม่แน่ชัดว่ามาจากอะไร แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของสมองที่เข้ามาควบคุมกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะความเครียด และการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้สมองทำงานผิดปกติ สารเคมีที่ส่งมายังเปลือกตาก็ผิดปกติ จนเกิดการกระตุกขึ้นมา ส่วนสาเหตุอื่นที่ไม่ได้รุนแรง เช่น ระคายเคืองเปลือกตา, เวียนศีรษะ, นัยต์ตาแห้ง, ตาล้าเนื่องจากใช้งานหนัก, โดนแสงสว่างหรือลมแรง, ผลจากการใช้ยาบางชนิด, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เป็นต้น

ส่วนกลุ่มที่มีอาการเรื้อรัง จะถือว่าเป็นโรคหนังตากระตุก เกิดขึ้นได้จากการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ดวงตา แบบไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ส่งผลให้อาการแย่กว่าเดิม เมื่อมีอาการกระตุกเรื้อรัง จะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นตามมา เช่น เยื่อบริเวณดวงตาอักเสบ, ตาแห้ง, เปลือกตาอักเสบ, ตาไวต่อแสง เป็นต้น โดยโรคที่เป็นต้นตอจะมีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาทและสมองได้ เช่น โรคกล้ามเนื้อบิดเกร็ง, โรคทูเร็ตต์, โรคใบหน้าเป็นอัมพาต, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เป็นต้น ถ้าเป็นโรคประจำตัว และเกิดอาการตากระตุกขึ้นมาอย่างรุนแรง ควรพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

การรักษาตากระตุกที่มาจากความผิดปกติ

อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่าตากระตุกเกิดจากอะไรได้บ้าง โดยทั่วไปเกิดขึ้นจากการควบคุมกล้ามเนื้อของสมองผิดปกติ และหายไปได้เอง แต่บางรายที่มีอาการกระตุกเรื้อรังหรือรุนแรง จะต้องเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง ถือว่าเป็นความผิดปกติที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ

การรักษาของแพทย์ สำหรับคนที่มีอาการบ่อยจนกระทบกับชีวิตประจำวัน แต่ไม่ใช่อาการที่รุนแรง จะมีการให้ยาในกลุ่มลดความเครียด เช่น าโคลนาซีแพม, ยาลอราซีแพม หรือยาไตรเฮกซีเฟนิดิล เป็นต้น จะช่วยบรรเทาอาการ แต่ไม่ได้ทำให้หายขาด

ในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง จะต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาด้วยแพทย์จักษุเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ การแก้ไขแบบชั่วคราวจะใช้การฉีดโบท็อกซ์เข้าไป จะต้องมีการฉีดเป็นระยะ ๆ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ยาหมดฤทธิ์ อาการกระตุกจะสามารถกลับมาเป็นอีกได้ ส่วนบางรายอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดกล้ามเนื้อหรือส่วนของเส้นประสาทที่อยู่รอบ ๆ เปลือกตา ซึ่งจะบรรเทาอาการได้อีกทางเลือก แต่มักจะเป็นทางเลือกท้าย ๆ เนื่องจากพื้นที่เปลือกตามีความบอบบาง เสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงหลังผ่าตัดตามมาได้ การใช้ยารักษาอย่างต่อเนื่องจึงเป็นตัวเลือกที่แพทย์นิยมใช้มากกว่า

จะเห็นได้แม้จะเป็นเพียงอาการตากระตุกทั่วไปที่เราต่างคุ้นชินกันดีแล้ว แต่ถ้าอาการนั้นมีความผิดปกติ อาการรุนแรงขึ้น หรือมาจากโรค การปล่อยไว้เสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อน มีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การพบแพทย์คือทางเลือกที่ดี และไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

Author: beauty